หัวข้อข่าว

นี่ไม่ใช่แค่ต้นไม้ แต่เป็นวัสดุ “มีชีวิต” จากแบคทีเรีย ดักจับ CO2 ได้ และทำได้ดีกว่าด้วย

Picoplanktonics

นี่ไม่ใช่แค่ต้นไม้ แต่เป็นวัสดุ “มีชีวิต” จากแบคทีเรีย ดักจับ CO2 ได้ และทำได้ดีกว่าด้วย

ใครจะไปคิดว่าแบคทีเรียกับเจลใส ๆ จะกลายเป็นอาวุธใหม่ในการรับมือกับภาวะโลกร้อน ล่าสุดทีมนักวิจัยจาก ETH Zurich สวิตเซอร์แลนด์ ได้พัฒนาวัสดุชีวภาพแบบใหม่ที่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากอากาศได้มากกว่าต้นไม้เสียอีก

Picoplanktonics1

Picoplanktonics วัสดุนี้คืออะไร?

นักวิจัยนำ ไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) ซึ่งเป็นแบคทีเรียสังเคราะห์แสงชนิดหนึ่ง มาฝังลงใน ไฮโดรเจล วัสดุคล้ายเจลลี่ที่ดูดซึมน้ำได้ดี แล้วปรับโครงสร้างให้มีช่องว่างให้อากาศ น้ำ และแสงลอดผ่านได้ แถมยังพิมพ์เป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

แล้วดีกว่าต้นไม้ยังไง?

ต้นไม้ดูดซับ CO2 แล้วเอาไปสร้างใบ กิ่ง ลำต้น แต่เจลพิเศษที่ใส่แบคทีเรียตัวนี้จะ เปลี่ยน CO2 เป็นแร่ธาตุคาร์บอเนต แบบแข็ง คล้าย ๆ กับปูนขาว ซึ่งไม่ระเหยหายไปไหน และอยู่ได้นานกว่า

Continuous Culture Over 400 Days

การทดลองในห้องแล็บพบว่า วัสดุ 1 กรัมดูดซับ CO2 ได้ถึง 26 มิลลิกรัม มากกว่าวิธีชีวภาพและเคมีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน (ตัวอย่างเช่น คอนกรีตรีไซเคิลดักได้แค่ 7 มิลลิกรัมต่อกรัม)

วัสดุนี้ต้องการแค่แสงแดด น้ำทะเลเทียม และ CO2 ก็สามารถมีชีวิตอยู่และทำงานได้ต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี โดยไม่ต้องบำรุงรักษามาก ที่สำคัญคือ สามารถใช้เป็นวัสดุก่อสร้างหรือเคลือบผนังอาคาร ได้ด้วย และนักวิจัยกำลังทดสอบว่า มันจะดักจับ CO2 ได้ตลอดอายุของตัวอาคารเลยหรือเปล่า

ผลงานนี้ไม่ได้หยุดแค่ในห้องวิจัย เพราะมีนักศึกษาปริญญาเอกจาก ETH ชื่อ แอนเดรีย ชินหลิง ได้เอาวัสดุนี้ไปใช้ในงาน Venice Architecture Biennale 2025 ที่อิตาลี โดยพิมพ์ออกมาเป็นโครงต้นไม้สูง 3 เมตร และตั้งชื่อว่า “Picoplanktonics” ซึ่งสามารถดูด CO2 ได้ถึง 18 กิโลกรัมต่อปี เทียบเท่ากับต้นสนจริง ๆ อายุ 20 ปีเลยทีเดียว

นี่คืออีกหนึ่งก้าวสำคัญของเทคโนโลยี “วัสดุมีชีวิต” ที่อาจเปลี่ยนอนาคตของการลดคาร์บอนบนโลกเรา ไม่ใช่แค่พึ่งพาต้นไม้หรือฟาร์มคาร์บอน แต่รวมถึงวัสดุที่ดูเหมือนไม่มีชีวิต แต่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าอย่างเหลือเชื่อ

แม้ว่าจะยังต้องพัฒนาและทดสอบอีกมาก แต่ถ้าวัสดุนี้กลายเป็นของจริงในวงการก่อสร้างเมื่อไหร่ โลกอาจมีเครื่องมือใหม่ในการต่อสู้กับวิกฤตโลกร้อนที่เราเผชิญอยู่ในตอนนี้

tags : scitechdaily

Facebook

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *