เมื่อโลกเทคโนโลยีผสานเข้ากับธรรมชาติอย่างเหนือความคาดหมาย นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีปักกิ่ง (Beijing Institute of Technology) ประเทศจีน ได้สร้าง “ผึ้งไซบอร์ก” ตัวแรกของโลกขึ้นสำเร็จ โดยติดตั้งสมองกลจิ๋วลงบนหลังของผึ้งจริง เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของมันได้แบบแม่นยำ
แม้จะฟังดูเหมือนเรื่องแต่งจากภาพยนตร์ไซไฟ แต่เทคโนโลยีนี้เป็นของจริง สมองกลที่ใช้มีน้ำหนักเพียง 74 มิลลิกรัม เชื่อมต่อเข้ากับระบบประสาทของผึ้งผ่านเข็มเล็กระดับจิ๋ว และสามารถสั่งการให้ผึ้งบินไปในทิศทางที่ต้องการได้ด้วยกระแสไฟฟ้าความเข้มต่ำ ซึ่งผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าผึ้งตอบสนองต่อคำสั่งได้ถึง 90%
ศักยภาพใหม่ของ ผึ้งไซบอร์ก (cyborg bee) สายลับ
ศาสตราจารย์ Zhao Jieliang หัวหน้าทีมวิจัย เผยว่า ข้อได้เปรียบของหุ่นยนต์แมลง คือความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างคล่องตัว พรางตัวกับสิ่งแวดล้อม และแทรกซึมไปในพื้นที่ที่หุ่นยนต์ทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะในภารกิจที่ต้องการความลับ เช่น การสอดแนมทางการทหาร, ต่อต้านก่อการร้าย, ปราบปรามยาเสพติด หรือแม้แต่การเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ภัยพิบัติ
ความท้าทายและทิศทางอนาคต
ความก้าวหน้านี้เกิดขึ้นจากการพัฒนาวงจรไฟฟ้าบนฟิล์มโพลีเมอร์ที่มีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่นเหมือนปีกผึ้ง อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านพลังงาน เช่น การหาแบตเตอรี่ที่เบาแต่จุไฟได้มากพอ และการปรับปรุงความแม่นยำในการควบคุมให้ดียิ่งขึ้น เพราะยังมีผึ้งบางตัวที่ “ไม่เชื่อฟังคำสั่ง”
อนาคตของ “ผึ้งไซบอร์ก” อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทดลองในห้องแล็บ แต่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการทำงานด้านความมั่นคงและสิ่งแวดล้อมไปอย่างสิ้นเชิง โลกที่แมลงสามารถรับคำสั่งจากมนุษย์และปฏิบัติภารกิจเฉพาะทางได้ อาจใกล้กว่าที่เราคิด
tags : scmp