“สิ่งมีชีวิตนอกโลก” ใกล้ความจริงมากขึ้นทุกที! กล้องเจมส์เว็บบ์จับสัญญาณชัดเจนครั้งที่ 2 จากดาวเคราะห์ห่างโลก 120 ปีแสง
K2-18b ดาวเคราะห์พบสัญญาณของสิ่งมีชีวิตต่างดาว
นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เผยข่าวสะเทือนวงการวิทยาศาสตร์ เมื่อพวกเขาตรวจพบ “สัญญาณที่เป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตต่างดาว” จากดาวเคราะห์ K2-18b ที่อยู่ห่างออกไปถึง 120 ปีแสง หรือกว่า 1,000 ล้านล้านกิโลเมตร
การค้นพบครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบเดาสุ่ม แต่เป็นผลจากการจับตาด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST) ที่สามารถวิเคราะห์ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ในจังหวะพิเศษที่เรียกว่า “ทรานซิต” ซึ่งแสงจากดาวฤกษ์เบื้องหลังส่องทะลุผ่านชั้นบรรยากาศ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถแยกแยะองค์ประกอบทางเคมีได้
สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างคือ พวกเขาพบ “ก๊าซ DMS หรือ DMDS”
ซึ่งบนโลกของเรา ก๊าซนี้เกิดจากการดำรงอยู่ของแพลงก์ตอนและแบคทีเรียในมหาสมุทรเท่านั้น ปริมาณที่พบในชั้นบรรยากาศของ ดาวเคราะห์ นั้น “สูงกว่าชั้นบรรยากาศโลกหลายพันเท่า”
ศาสตราจารย์นิกคู มธุสุธาน หัวหน้าทีมวิจัย ย้ำว่า นี่คือ “สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยพบ” แม้ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตต่างดาวจริง แต่เขามั่นใจว่า “ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า” เราอาจมีคำตอบที่ชัดเจนกว่านี้
แน่นอนว่าการค้นพบนี้ยังอยู่ในระดับค่าความเชื่อมั่น 99.7% ซึ่งยังไม่ถึงเกณฑ์การยอมรับทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ แต่ก็นับว่าก้าวกระโดดจากครั้งแรกเมื่อปี 2023 ที่มีความน่าเชื่อเพียง 68% เท่านั้น
ท่ามกลางความตื่นเต้น ก็ยังมีเสียงจากนักวิทยาศาสตร์บางส่วนที่เตือนให้ “ใจเย็น” เพราะแม้ก๊าซ DMS จะเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าแหล่งกำเนิดที่ดาวเคราะห์ouh จะเหมือนกัน ยังต้องศึกษาว่าก๊าซชนิดนี้อาจเกิดจากกระบวนการธรณีวิทยาอื่นหรือไม่
นักวิจัยจากนาซ่าบางคนยังเสนอว่า K2 อาจเป็นดาวก๊าซขนาดย่อมที่ไม่มีพื้นผิว และไม่น่าจะมีมหาสมุทรหรือจุลชีพอาศัยอยู่เลยด้วยซ้ำ
แต่ทีม JWST ก็ยืนยันว่า ข้อมูลจากกล้องระบุถึงองค์ประกอบที่บ่งบอกถึงกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตได้อย่างชัดเจนกว่าการคาดการณ์ทางทฤษฎีเดิม ๆ และหากการค้นพบนี้ได้รับการยืนยันในอนาคต มันจะไม่ใช่แค่การเจอสิ่งมีชีวิตต่างดาวเป็นครั้งแรกเท่านั้น แต่มันจะเปลี่ยนวิธีที่เรามองจักรวาลไปตลอดกาล
“นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ ที่เราจะได้รู้เสียทีว่า… พวกเราไม่ได้อยู่ลำพังในจักรวาลนี้” ศ.มธุสุธาน
tags : bbc