นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เลือดของชายชาวอเมริกัน ผู้ที่ฉีดพิษงูเข้าร่างกายโดยตั้งใจเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ ได้นำไปสู่การสร้างเซรุ่มต้านพิษงูที่ “ไร้เทียมทาน”
ชายอเมริกันฉีดพิษงูใส่ตัวเองกว่า 700 ครั้ง จุดประกายการสร้าง"serum"ต้านพิษงู "ครอบจักรวาล"
ทิม ฟรีด ชายชาวอเมริกันวัยกลางคนใช้เวลากว่า 18 ปี ฉีดพิษงูเข้าร่างกายตัวเองกว่า 700 ครั้ง และถูกงูกัดมากถึง 200 ครั้ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้วยตัวเอง ภารกิจเสี่ยงตายนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์พัฒนาเซรุ่มต้านพิษงูชนิดใหม่ที่มีศักยภาพในการต้านพิษงูหลากหลายสายพันธุ์พร้อมกันได้
ในอดีต การรักษาผู้ถูกงูกัดต้องใช้เซรุ่มที่เฉพาะเจาะจงกับงูแต่ละชนิด และปัญหาความหลากหลายของพิษแม้ในสายพันธุ์เดียวกันก็ทำให้การรักษาซับซ้อนและไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากพิษงูกัดถึง 140,000 รายต่อปี และอีกหลายแสนคนต้องพิการหรือถูกตัดอวัยวะ
การทดลองล่าสุดโดยบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Centivax ซึ่งร่วมมือกับ ดร.จาค็อบ แกลนวิลล์ พบว่าแอนติบอดีในเลือดของฟรีดสามารถ “เป็นกลาง” พิษงูที่รุนแรงจากงูสายพันธุ์เขี้ยวสั้น เช่น งูแมมบา งูเห่า งูไทปัน และงูสามเหลี่ยม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทดลองกับพิษงู 19 สายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าอันตรายที่สุดในโลก
ผลการทดลองในหนูพบว่า “ค็อกเทลยาต้านพิษงู” ที่พัฒนาจากแอนติบอดีในเลือดของฟรีด ช่วยให้หนูรอดชีวิตจากพิษที่รุนแรงของงูได้ 13 สายพันธุ์ ส่วนที่เหลือยังแสดงผลบางส่วน นักวิจัยตั้งเป้าจะเพิ่มส่วนผสมเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยหวังว่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาเซรุ่มที่ใช้ได้กับงูทุกชนิดทั่วโลก
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Cell และได้รับการยกย่องว่าเป็น “หลักฐานเชิงประจักษ์” ว่าการสร้างเซรุ่มครอบจักรวาลเป็นไปได้จริง แม้จะยังต้องผ่านการวิจัยและทดสอบเพิ่มเติมอย่างละเอียดก่อนใช้ในมนุษย์
ทิม ฟรีด กล่าวถึงแรงบันดาลใจว่า เขาเริ่มจากการพยายามป้องกันตัวเองจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เมื่อจัดการกับงู แต่เมื่อรู้ว่าแอนติบอดีในเลือดของเขาอาจช่วยชีวิตคนได้ เขาก็ไม่หยุดเดินหน้าภารกิจนี้
“มันกลายมาเป็นวิถีชีวิต และผมจะสู้ต่อไป เพื่อผู้คนอีกหลายพันไมล์ที่เสียชีวิตจากพิษงู” — ทิม ฟรีด
tags :https://bbc.in/44ngp9M