คุณคิดว่ามนุษย์สามารถมองเห็นกี่สี? หลายคนอาจตอบว่า “นับไม่ถ้วน” แต่จริง ๆ แล้ว ตาของเราถูกจำกัดไว้แค่ในช่วงสเปกตรัมของแสงที่เรียกว่า ‘สีที่มองเห็นได้’ ซึ่งมีเพียงประมาณ 1 ล้านถึง 10 ล้านเฉดเท่านั้น
Olo (โอโล) สีที่คนเพียง 5 คนในโลกเท่านั้นที่มองเห็น
แต่ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้เปิดประตูไปสู่ ‘อีกมิติของการมองเห็น’ เป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ ผ่านเทคโนโลยีใหม่ที่มีชื่อว่า ออซ ‘Oz’ โดยใช้เลเซอร์ควบคุมการทำงานของเซลล์ในดวงตาได้แบบเฉพาะจุด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ผลที่ได้คือ “สีใหม่” ที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ หรือในจานสีดั้งเดิมของมนุษย์ พวกเขาตั้งชื่อสีนี้ว่า “โอโล” (olo) ซึ่งเป็นสีน้ำเงินอมเขียวที่มีความอิ่มตัวสูงจนเลเซอร์สีเขียวธรรมดายังดูซีดไปถนัดตา
สีที่อยู่นอกขอบเขตการมองเห็นของมนุษย์
โดยปกติ ดวงตาของเรามีเซลล์รับแสงชนิดกรวย (cones) 3 ประเภทที่แยกแยะสีได้ คือ เซลล์ที่ไวต่อสีแดง (L), สีเขียว (M) และสีน้ำเงิน (S) แต่ในธรรมชาติ เซลล์เหล่านี้มักทำงานร่วมกัน ไม่มีทางกระตุ้นแยกแบบเดี่ยว ๆ ได้
แต่งานวิจัยนี้ทำได้ ด้วยการยิงเลเซอร์แบบ ‘ไมโครโดส’ ไปที่เซลล์ M เพียงเซลล์เดียว ทำให้สมองรับสัญญาณในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และนั่นคือจุดที่ “โอโล” ถือกำเนิดขึ้น
จะเกิดอะไร ถ้าคุณเห็นสีที่ไม่มีชื่อเรียก?
ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้ง 5 คน ซึ่ง 3 คนในนั้นเป็นผู้วิจัยเอง รายงานว่าพวกเขาเห็น “แสงสีน้ำเงินอมเขียว” ที่อิ่มตัวจนไม่สามารถเปรียบเทียบกับสีใดได้ในโลกความเป็นจริง ต้องเพิ่มแสงสีขาวเข้าไปเพื่อให้มันดูเหมือนกับสีใกล้เคียงที่สุด
นี่จึงเป็นหลักฐานชัดเจนว่า “โอโล” เป็นสีที่อยู่นอกขอบเขตของการมองเห็นปกติของมนุษย์
ความหวังใหม่สำหรับผู้ที่มองเห็นสีผิดปกติ แม้เทคโนโลยี Oz จะยังคงอยู่ในห้องทดลอง แต่ก็สร้างความหวังใหม่ให้กับการรักษาภาวะตาบอดสี หรือการสร้างการมองเห็นรูปแบบใหม่ให้กับผู้มีความบกพร่องทางการรับรู้สีในอนาคต
“มันคือการจำลองการมองเห็นใหม่ที่มนุษย์ไม่เคยสัมผัสมาก่อน” นักวิจัยกล่าว และใช่… ในตอนนี้มีเพียง 5 คนบนโลก เท่านั้น ที่ได้เห็นสิ่งที่เราเรียกว่า “สีที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน”
tags : iflscience / science.org