แมลงตัวบางเบาอย่าง “แมลงวันเครน” อาจดูธรรมดาในสายตาเรา แต่กลับกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้หุ่นยนต์บินขนาดเล็กลงจอดได้อย่างราบรื่นกว่าที่เคย
RoboBee คืออะไร?
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พัฒนาหุ่นยนต์บินขนาดเล็ก “RoboBee (หุ่นยนต์บินขนาดเล็ก)” ให้ลงจอดบนพื้นเรียบได้ดีขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโครงสร้างขาที่ยาวและยืดหยุ่นของแมลงวันเครน (Crane Fly) เพื่อแก้ปัญหาการเสียสมดุลจากแรงลมปั่นป่วนระหว่างการลงจอด
หุ่นยนต์บินขนาดเล็ก น้ำหนักเพียงหนึ่งในสิบของกรัม ปีกกว้างไม่เกิน 3 เซนติเมตร บินได้ด้วยกล้ามเนื้อเทียมที่ขับเคลื่อนปีกอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันยังต้องเชื่อมต่อกับสายไฟเพื่อรับพลังงาน แต่ต้นแบบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว
แม้ที่ผ่านมา หุ่นยนต์บินขนาดเล็ก จะบินได้ดี แต่การ “ลงจอด” บนพื้นเรียบยังเป็นความท้าทายใหญ่ เพราะแรงลมจากการกระพือปีกใกล้พื้นจะสร้างความปั่นป่วนจนทำให้หุ่นยนต์ไม่สามารถทรงตัวได้
Christian Chan หัวหน้าทีมวิศวกรออกแบบ เผยว่า เดิมที หุ่นยนต์บินขนาดเล็ก ต้องดับเครื่องกลางอากาศแล้วปล่อยให้ “ตก” ลงพื้นแบบหวังดีไม่หวังพัง การปรับปรุงล่าสุดจึงเพิ่มขา 4 ขาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแมลงวันเครน โดยออกแบบให้ขาแตะพื้นก่อนตัวหุ่นยนต์ ช่วยลดแรงกระแทกและปั่นป่วนจากลมได้มาก
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพัฒนาอัลกอริธึมควบคุมใหม่ ช่วยให้หุ่นยนต์สามารถชะลอความเร็วและลงจอดได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
หุ่นยนต์เลียนแบบธรรมชาติ เพื่อเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น
ดร.อาลิสซา เฮอร์นันเดซ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวว่า “แมลงมีความสามารถทางกลที่ซับซ้อนและน่าทึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งไอเดียให้กับหุ่นยนต์หลากหลายรูปแบบ ในขณะเดียวกัน หุ่นยนต์อย่าง หุ่นยนต์บินขนาดเล็ก ก็สามารถกลายเป็นเครื่องมือใหม่ในการศึกษากลไกชีวภาพของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ด้วย”
ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science Robotics เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2025
tags : newatlas