จากภาพจำของแมลงสาบที่มักมาคู่กับเสียงกรี๊ด วันนี้มันกลายเป็นความหวังใหม่ของภารกิจกู้ภัยโลกยุคอนาคต หลังแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.7 ริกเตอร์ที่พม่า คร่าชีวิตกว่า 3,000 คน และแรงสั่นสะเทือนยังรับรู้ได้ถึงประเทศไทย ทีมวิจัยจาก Singapore (สิงคโปร์) ได้ส่ง “ฝูงแมลงสาบไซบอร์ก” กว่า 10 ตัว บุกเข้าสู่พื้นที่หายนะเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต!

Singapore ส่ง "แมลงสาบไซบอร์ก" บุกซากแผ่นดินไหวเมียนมา!
วันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา กองกำลังป้องกันพลเรือนสิงคโปร์ (SCDF) ภายใต้หน่วยปฏิบัติการ Lionheart ได้ร่วมกับ HTX (Home Team Science and Technology Agency) ส่งแมลงสาบไซบอร์กเข้าสู่พื้นที่แผ่นดินไหวในเมียนมา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เทคโนโลยีไซบอร์กถูกนำมาใช้จริงในภารกิจมนุษยธรรม
แมลงสาบเหล่านี้ไม่ธรรมดา พวกมันคือสายพันธุ์ มาดากัสการ์ ขนาดราว 6 ซม. ที่ติดตั้ง กล้องอินฟราเรด + เซ็นเซอร์อัจฉริยะ สามารถคลานผ่านช่องแคบใต้ซากปรักหักพังที่มนุษย์เข้าไม่ถึง โดยวิศวกรจาก HTX ควบคุมมันจากระยะไกล ด้วยการใช้ “ขั้วไฟฟ้า” กระตุ้นการเคลื่อนไหว
แมลงสาบไซบอร์กแต่ละตัวถูกฝังระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งข้อมูลกลับมาแบบเรียลไทม์ ทั้งภาพความร้อน เสียง และความเคลื่อนไหวในพื้นที่อันตราย ข้อมูลเหล่านี้จะถูกวิเคราะห์ด้วยอัลกอริธึม AI เพื่อค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิต แม้ครั้งนี้จะไม่พบผู้รอดชีวิต แต่เทคโนโลยีก็แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่
เดิมทีแมลงสาบไซบอร์กอยู่ในช่วงพัฒนาและวิจัย เตรียมนำไปใช้งานจริงในปี 2026 แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้ ทีมวิจัยสามารถเก็บข้อมูลจริงเพื่อเร่งการพัฒนา ได้เร็วกว่ากำหนด
ครั้งแรกของโลกนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “ระบบช่วยชีวิตแบบไซบอร์ก” ที่ในอนาคตไม่แน่ว่า แมลงสาบอาจกลายเป็นเพื่อนร่วมงานในภารกิจกู้ชีพของมนุษย์ทั่วโลก
แมลงสาบไซบอร์กเคยถูกจัดแสดงที่งาน Milipol Asia-Pacific and TechX Summit 2024 แต่หลังจากแผ่นดินไหวในพม่า พวกมันก็ได้ลงสนามจริงครั้งแรก และแสดงให้เห็นว่า แม้จะตัวเล็ก แต่ก็มีบทบาทใหญ่ในภารกิจช่วยชีวิต
tags : linkedin