เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (27 เมษายน) โลกต้องหันมาจับตาอีกครั้ง เมื่อสถาบันวิจัยจื้อหยวน (Zhiyuan Research Institute) ในนครหางโจว ประเทศจีน เปิดตัว “ยานพาหนะบินได้แบบสวมใส่ได้” (อีวีทัล) ลำแรกพร้อมสาธิตการบินต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ
eVTOL ยานพาหนะบินได้แบบสวมใส่ได้
ยานบินไฟฟ้ารุ่นใหม่นี้ออกแบบให้มีใบพัดสามตำแหน่ง – ซ้าย ขวา และหลัง – เพื่อเสริมพลังการบิน ลดเสียงรบกวน และเพิ่มประสิทธิภาพขณะลอยตัว นอกจากนี้ยังมีระบบความปลอดภัยขั้นสูง ที่เพียงแค่ “คลิกเดียว” นักบินสามารถแยกตัวออกจากเครื่อง พร้อมกางร่มชูชีพได้ แม้บินในระดับความสูงต่ำ
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือระบบควบคุมอัตโนมัติภาคพื้น ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถ “บินได้โดยไม่ต้องใช้มือ” เพิ่มความคล่องตัวและลดภาระขณะปฏิบัติงานในภารกิจเฉพาะทาง เช่น กู้ภัยฉุกเฉิน บำรุงรักษาเสาไฟฟ้า ทำความสะอาดตึกสูง หรือแม้แต่ภารกิจลาดตระเวนตามแนวชายแดน
แม้ข้อมูลเชิงเทคนิค เช่น ความเร็ว พิสัยการบิน หรือความสามารถในการบรรทุกยังไม่ได้รับการเปิดเผย แต่ชัดเจนว่ายานบินขนาดเล็กนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานใน “สภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน” ด้วยระบบควบคุมที่ทนต่อสัญญาณรบกวนขั้นสูง
ขณะที่งานฟอรั่มเศรษฐกิจระดับความสูงต่ำที่ปักกิ่ง ระบุว่าตลาด อีวีทัล และโดรนกำลังเปลี่ยนผ่านจากการขนส่งส่วนบุคคล สู่การใช้งานเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ และจะยิ่งเร่งเครื่องไปอีกขั้นเมื่อรวมเข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หลัว จวิน กรรมการบริหารสมาคมเศรษฐกิจระดับความสูงต่ำจีน เผยว่า ตลาดโดรนและ อีวีทัล ในจีนอาจมีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 4.57 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030
ด้วยแรงผลักดันจากนโยบายรัฐบาลกลางที่ประกาศเร่งพัฒนาเศรษฐกิจระดับความสูงต่ำอย่างจริงจังในปีนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “ยานบินสวมใส่ได้” อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในอนาคตอันใกล้
จีนไม่ได้แค่ฝัน แต่กำลังทำให้โลกใบนี้ “บินได้จริง”
tags : urbanairmobilitynews