หนึ่งในประเด็นหลักของรายงานคือ ภัยแล้งรุนแรง ซึ่งคุกคามกระบวนการผลิตทองแดงที่ต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาล โดยระบุว่า การสกัดทองแดง 19 กิโลกรัม จำเป็นต้องใช้น้ำมากถึง 1,600 ลิตร หากสภาพอากาศแห้งแล้งยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลโดยตรงต่อปริมาณทองแดงที่สามารถผลิตได้ทั่วโลก และนั่นจะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาทองแดงในระดับสูงอย่าง “เซมิคอนดักเตอร์”
ชิลี เสี่ยงหนัก
ประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดในเวลานี้คือ ชิลี หนึ่งในผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ของโลก ซึ่งคิดเป็น 7% ของวัตถุดิบที่ใช้ในเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ตามรายงานคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 พื้นที่เหมืองทองแดงของชิลีจะเผชิญความเสี่ยงจากสภาพอากาศเพิ่มขึ้นสูงถึง 58%
เมื่ออุปทานทองแดงมีแนวโน้มลดลง นั่นอาจกระทบ ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก ทั้งในจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ซึ่งต่างก็มีห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องกับทองแดงในระดับหนึ่ง
ความต้องการทองแดงพุ่งสวนทางอุปทาน
แม้เซมิคอนดักเตอร์จะใช้ทองแดงเพียงส่วนน้อยจากปริมาณความต้องการทั่วโลก (ราว 28 ล้านตันต่อปี) แต่ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในสายไฟขนาดเล็กภายในชิป โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมชิป ที่คาดว่ามูลค่าจะทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030
ในอีกด้านหนึ่ง ความต้องการทองแดงในอุตสาหกรรม พลังงานสะอาด เช่น ระบบโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และโครงข่ายไฟฟ้าก็พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าทองแดงรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นกว่า 60% ของการนำเข้าทั่วโลกในปี 2023
รายงานจาก PwC ชี้ให้เห็นถึงปัญหา
ระหว่างสภาพภูมิอากาศ วัตถุดิบ และเทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากภาคอุตสาหกรรมไม่เร่งปรับตัวด้วยการหาแหล่งวัตถุดิบสำรอง หรือพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิปที่ใช้น้ำและพลังงานน้อยลง การเติบโตของโลกเทคโนโลยีอาจสะดุดจากข้อจำกัดทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังใกล้เข้ามาเร็วกว่าที่คาด
tags : scmp