โลกเทคโนโลยีใกล้เข้าไปอีกขั้นสู่จิตใต้สำนึก เมื่อสตูดิโอออกแบบจากเนเธอร์แลนด์ ‘Modem’ เผยโฉมแนวคิด “Dream Recorder” หรือเครื่องสร้างภาพจากความฝัน ที่ใช้ AI สร้างวิดีโอจากความทรงจำหลังตื่นนอน พร้อมให้เราย้อนชมความฝันได้ราวกับหนังสั้น
อุปกรณ์ชิ้นนี้ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย มีหน้าตาคล้ายกล่องลำโพงขนาดกะทัดรัดพร้อมหน้าจอและลำโพงในตัว เพียงวางไว้ข้างหัวเตียง เมื่อตื่นนอน ผู้ใช้สามารถกดปุ่มแล้วเล่าความฝันที่เพิ่งจำได้ลงไป ระบบจะบันทึกเสียงและส่งข้อมูลเข้าสู่โมเดลปัญญาประดิษฐ์
Dream Recorder ขับเคลื่อนด้วย AI สองตัวหลัก
เบื้องหลังการประมวลผลนั้นขับเคลื่อนโดยโมเดลจาก OpenAI ซึ่งช่วยวิเคราะห์คำบรรยายและตีความเนื้อหาฝัน ร่วมกับ LumaLabs ที่รับหน้าที่สร้างภาพเคลื่อนไหวออกมาในรูปแบบ “Impressionism” ศิลปะแนวพู่กันตวัดหยาบ ๆ ที่ให้ความรู้สึกคล้ายกับความฝันที่พร่าเลือน ไม่ชัดเจนแต่จับอารมณ์ได้
ผู้ใช้สามารถดูวิดีโอฝันของตนเองได้ซ้ำผ่านหน้าจอบนอุปกรณ์ โดยหนึ่งเครื่องสามารถบันทึกความฝันได้ 7 ความฝัน หรือหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งผู้พัฒนาเชื่อว่าวิดีโอเหล่านี้ไม่ใช่แค่ของเล่นเทคโนโลยี แต่เป็นการเปิดประตูสู่การสำรวจ “จิตใต้สำนึก” ในรูปแบบใหม่ที่เข้าใจได้ง่ายและเข้าถึงได้จริง
ต้นทุนไม่สูง พร้อมเปิดโอเพ่นซอร์ส
Modem ไม่ได้หยุดแค่แนวคิดหรือการโชว์ต้นแบบเท่านั้น แต่ยังเปิดซอร์สโค้ดทั้งหมดของ Dream-Recorder รวมถึงไฟล์ฮาร์ดแวร์สำหรับการพิมพ์ 3 มิติ ให้ผู้ใช้งานที่สนใจสามารถสร้างอุปกรณ์นี้ด้วยตนเอง ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 290 ยูโร หรือราว 11,000 บาท
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของ Modem โดยตัวโครงการนี้เป็นแบบโอเพ่นซอร์สอย่างเต็มรูปแบบ สนับสนุนให้นักพัฒนาและนักออกแบบทั่วโลกนำไปต่อยอดหรือปรับใช้งานได้ตามอิสระ
แม้ยังอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนา แต่ Dream-Recorder ก็อาจกลายเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนวิธีที่เราทบทวนตัวเอง และเข้าใจตัวตนผ่าน “ภาพจากความฝัน” ได้ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
tags : dezeen