ในขณะที่เครื่องปรับอากาศกลายเป็นของจำเป็นในยุคโลกร้อน แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ “สารทำความเย็น” ที่ใช้กันในเครื่องปรับอากาศทั่วไป กลับเป็นหนึ่งในต้นตอสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ จึงหันมาเดินหน้าค้นคว้าแนวทางใหม่ เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน ล่าสุดพวกเขาได้พัฒนา “สารทำความเย็นแบบแข็ง” ซึ่งอาจเป็นคำตอบสำคัญในอนาคต
UK ปฏิวัติวงการทำความเย็น ด้วยวัสดุที่หาได้ง่าย
นักวิจัยใช้หลักการทางฟิสิกส์ที่เรียกว่า “บาโรแคลอริก” (barocaloric effect) ซึ่งอาศัยวัสดุชนิดหนึ่งที่มีอยู่แล้วในอุตสาหกรรมเคมีทั่วไป เมื่อนำมาบีบอัด โมเลกุลในวัสดุจะหยุดหมุน ปล่อยความร้อนออกมา และเมื่อคลายแรงกด ก็จะดูดซับความร้อนกลับ ทำให้อุณหภูมิบริเวณรอบเย็นลง
สารชนิดนี้มีลักษณะคล้ายขี้ผึ้ง เป็นผลึกนุ่ม ไม่รั่ว ไม่ระเหย ไม่มีปัญหาเรื่องการรั่วไหลแบบก๊าซทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศทั่วไป แถมยังสามารถเปลี่ยนอุณหภูมิได้ถึง 50 องศาเซลเซียสภายใต้แรงดัน
ต้นแบบ “ตู้เย็นไร้มลพิษ” ถือกำเนิด
จากงานวิจัยนี้ ทีมได้ต่อยอดสู่การก่อตั้งสตาร์ตอัปในชื่อ “Barocal” เมื่อปี 2019 โดยสร้างต้นแบบตู้เย็นที่ใช้สารทำความเย็นแบบแข็ง ซึ่งภายในมีวงจรไฮดรอลิกสำหรับควบคุมแรงดัน
แม้ตอนนี้ต้นแบบจะยังมีขนาดใหญ่ และยังไม่เหมาะสำหรับใช้ในครัวเรือน แต่ก็เป็นก้าวสำคัญของเทคโนโลยีสีเขียวที่มีศักยภาพสูง หากพัฒนาสำเร็จ นักวิจัยเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบทำความเย็นได้ถึง 75% เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน
Barocal มีแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยเน้นกลุ่มผู้ใช้งานขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์การค้า คลังสินค้า โรงเรียน และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ก่อนจะขยายสู่การใช้งานในระดับครัวเรือนในอนาคต
tags : techxplore